การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ทุ่งใสไช มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สู่การเป็นพื้นที่นวัตกรรมเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน( 4 มีนาคม พ.ศ.2564)
วันที่ (4 มีนาคม 2564) นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และหัวหน้าส่วนราชการ ลงพื้นที่หารือร่วมกับ รองศาสตราจารย์ ดร.เจริญ นาคะสรรค์ รองอธิการบดีวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ผู้บริหาร นักวิจัย และบุคลากร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ทุ่งใสไช มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สู่การเป็นพื้นที่นวัตกรรมเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน ณ ห้องประชุม อาคารสำนักงานมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พื้นที่ทุ่งใสไช ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับอนุมัติในหลักการในการจัดตั้ง “วิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง” ณ พื้นที่ทุ่งใสไช ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อสังคมโดยใช้การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมแนวหน้านำ เป็นการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแนวใหม่ ที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการกับการศึกษา โดยผ่าน แผนงานหลัก 4 แผนงาน คือ แผนงานด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แผนงานประมงชายฝั่ง แผนงานอุตสาหกรรมประมง และแผนงานการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ ที่มีแผนงานพื้นฐานที่เป็น Frontier knowledge & technology ของศาสตร์ต่างๆ คือ พันธุศาสตร์ นิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม อาหารและโภชนาการ โรคสัตว์น้ำ เทคโนโลยีชีวภาพ และวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ร่วมกับพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และสารสนเทศที่สำคัญ คือ Big Data, ICT, Internet of things (IoT), Artificial intelligence (AI) และ Automation เป็นต้น เพื่อสนับสนุนแผนงานหลัก 4 แผนงาน นำสู่การจัดการศึกษารูปแบบใหม่ที่ใช้กระบวนการวิจัย การสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมนำไปสู่การผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาและการบริการสังคม ในรูปแบบหลักสูตรระยะสั้น เพื่อใช้เป็นฐานในการประกอบอาชีพและเพื่อการศึกษาในระดับปริญญาจากการสะสมโมดูล และการบริการสังคมในรูปแบบอื่นๆ นอกจากนี้ยังสามารถสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ (Entrepreneur) ที่เป็น Smart farmers สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจและภาคการผลิต องค์กรภาครัฐและเอกชน ภาคประชาชน สังคม และชุมชน ทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ