ม.อ.สุราษฎร์ธานี จัดประชุมวิชาการนานาชาติเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังของเอเชีย ภายใต้แนวคิด “Green Culture Sustainable Production”( 13 ตุลาคม พ.ศ.2561)

 วันนี้ (13 ตุลาคม 2561) รองศาสตราจารย์ ดร.เจริญ  นาคะสรรค์ รองอธิการบดีวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ในเกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังของเอเซีย (international Symposium on Cage Aquaculture in Asia หรือ CAA) ณ ห้องศรีวิชัย C-D โรงแรมวังใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

เป็นการประชุมที่สำคัญของสมาคมประมงแห่งเอเซีย (Asian Fisheries Society) ที่จัดหมุนเวียนประเทศเจ้าภาพทุกๆ 3 ปี  โดยครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 6 โดยการประชุมเปิดโอกาสให้นักวิจัยจากหลายประเทศในภาคพื้นเอเซียร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ในการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์น้ำ และนวัตกรรมทีเกี่ยวข้องให้มีความยั่งยืน  ทั้งนี้ สมาคมประมงแห่งเอเซียและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล และศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี  เล็งเห็นความสำคัญของกิจกรรมดังกล่าว จึงร่วมกันจัดประชุม 6th Cage Aquaculture in Asia: Green Culture Sustainable Production ระหว่างวันศุกร์ที่ 12 ถึงวันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม 2561 ณ โรงแรมวังใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นเวทีให้คณาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักวิชาการ นิสิตนักศึกษา รวมถึงผู้สนใจ จากสถาบันการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชน เผยแพร่ผลงาน แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น ตลอดจนประสบการณ์ต่างๆ ซึ่งกันและกัน ทั้งด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง และด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความร่วมมือซึ่งกันและกัน ระหว่างผู้เชี่ยวชาญ และผู้ปฏิบัติการ เพื่อปรับปรุงและพัฒนางานด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง และนวัตกรรมทีเกี่ยวข้อง ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาการ รวมถึงด้านเศรษฐกิจและสังคมของอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังในอนาคต ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการประชุมวิชาการครั้งนี้ จะมีส่วนผลักดันให้เกิดกิจกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศต่างๆ ของเอเชีย  สำหรับประเทศไทย ซึ่งจะมีการประกาศกฎหมายให้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังในพื้นที่สาธารณะเป็นกิจกรรมที่ควบคุม จะได้รับประโยชน์ในการมีประสบการณ์ร่วมกับการเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังของประเทศอื่นๆ  รวมทั้ง เกิดความร่วมมือในการพัฒนากิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนของกิจกรรมการเพาะเลี้ยงในประเทศ