การส่งมอบชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม (Colostomy Bags)( 2 ตุลาคม พ.ศ.2561)

 

วันนี้ (2 ต.ค. 61) รองศาสตราจารย์ ดร.เจริญ  นาคะสรรค์ รองอธิการบดีวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี เป็นเกียรติกล่าวต้อนรับทีมแพทย์ พยาบาล และนักวิจัย ในโครงการ ชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม : ผลิตเอง ใช้เอง เพิ่มคุณค่าจากยางพาราสำหรับการดูแลผู้ป่วยที่มีทวารเทียม” ณ ห้องประชุมวิภาวดี โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี

ชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม เป็นอุปกรณ์ที่ใช้รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียมในกลุ่มผู้ป่วยที่มีการตัดลำไส้ทิ้งเนื่องจากการเป็นมะเร็งลำไส้ ทำให้ไม่สามารถขับถ่ายทางทวารหนักตามปกติได้ โดยปัจจุบันผู้ป่วยที่มีทวารเทียมในประเทศไทยมีแนวโน้มมากขึ้น การใช้ชุดอุปกรณ์จึงสูงขึ้นตามลำดับปัจจุบันชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียมมีอยู่หลากหลายยี่ห้อ มีราคาสูงเนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์นำเข้า ประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตอุปกรณ์ชนิดนี้ได้เองในเชิงอุตสาหกรรม ภาครัฐต้องเสียงบประมาณสูง มีโรงพยาบาลหลายแห่งดัดแปลงอุปกรณ์ใช้แทนถุงทวารเทียม ประสบปัญหาระหว่างการใช้และมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ระคายเคือง แป้นรั่วซึม หลุดง่ายและกลิ่นอันไม่พึงประสงค์

นวัตกรรมชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้พยายามมุ่งแก้ปัญหาดังกล่าว โดยใช้ยางพาราที่เป็นพืชเศรษฐกิจของภาคใต้ และปรับให้มีรูปแบบของชุดอุปกรณ์ที่เหมาะกับผิวและผนังหน้าท้องของคนไทย โดยได้รับการสนับสนุนงบวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ อุทยานวิทยาศาสตร์ สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นอกจากนี้ยังร่วมมือกับเครือข่ายภายนอกในการผลิตชุดอุปกรณ์ด้วย ได้แก่ บริษัท Novatechealthcare , บริษัท Novamedic , บริษัท PTT global chemical , บริษัทTBPI , บริษัท Neoplastomer และ บริษัท SK Polymer โดยมีสถาบันพลาสติก เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนที่สำคัญ

โดยทีมนักวิจัยจะเดินทางไปจัดโครงการ และส่งมอบชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม (Colostomy Bags) ให้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาลเครือข่ายในพื้นที่ภาคใต้  ได้แก่ โรงพยาบาลหาดใหญ่ โรงพยาบาลตรัง โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช โรงพยาบาลยะลา และโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ต่อไป