ม.อ.สุราษฎร์ธานี ร่วมกับ สนง.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดค่ายเยาวชนส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ระดับมัธยมศึกษา ภาคใต้ ( 8 กรกฎาคม พ.ศ.2558)

 

                มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้จัดค่ายเยาวชนส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ระดับมัธยมศึกษา ภาคใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ชั้นปีที่ 4 (แกนนำนักเรียน) ในเขตพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้มีบทบาทส่งเสริมสิทธิมนุษยชนให้แก่เพื่อนเยาวชนระดับมัธยมศึกษา เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและเพื่อเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่อยู่ร่วมกันกับเพื่อนมนุษย์ที่แตกต่างทางความคิด ความเข้าใจ และเคารพสิทธิของตนเองและผู้อื่นในสังคม ในระหว่างวันที่ 26 – 28 มิถุนายน 2558 ณ ศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ค่ายวิภาวดีรังสิต

 

กิจกรรมดังกล่าวมีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ชั้นปีที่ 4 (แกนนำนักเรียน) จากโรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ สุราษฎร์ธานีโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา โรงเรียนเวียงสระ โรงเรียนบ้านนาสาร โรงเรียนกาญจนดิษฐ์ โรงเรียนธิดาแม่พระ และโรงเรียนกีฬาเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี เข้าร่วมประมาณ 40 คนในกิจกรรมครั้งนี้มีคณาจารย์และนักศึกษาจากสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ เป็นพี่เลี้ยงในการดูแล รวมไปถึงเป็นผู้นำกิจกรรมตลอดกระบวนการ โดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากเจ้าหน้าที่และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 โดยทั้งกระบวนการใช้เกมส์และกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในการทำความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน กิจกรรมฐานเรียนรู้ชีวิตและสิทธิขั้นพื้นฐาน(คุณพิทักษ์ เกิดหอม) ความเสมอภาค(อาจารย์ศิริพร เพ็งจันทร์) ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์(อาจารย์วริศรา วงศ์รักษ์) และสิทธิชุมชน(ดร.พิเชตวุฒิ นิลละออ) และลงพื้นที่เข้าใจเรื่องการจัดการสิทธิชุมชนของพื้นที่หาดนางกำ อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี จากกระบวนการของกิจกรรมเป็นการเชื่อมโยงการเรียนรู้ในระดับปัจเจกบุคคล การเรียนรู้ผ่านการมีส่วนร่วมในกลุ่ม นำไปสู่การเชื่อมโยงในบริบทของชุมชนและสังคมได้

การจัดค่ายดังกล่าวนี้ ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมโครงการเกิดการตระหนักรู้ เกี่ยวกับ ชีวิตและสิทธิขั้นพื้นฐาน ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิชุมชน รวมไปถึงแนวคิดการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนทั้งในปัจเจกบุคคล และสังคม ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการสร้างความเข้าใจ และเคารพสิทธิของตนเองและผู้อื่นในสังคมที่มีความหลากหลายต่อไป